อิทธิพลของโซเชียล


อิทธิพลของโซเชียล

เรื่องราวใดๆ ก็ตามเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นที่สนใจของผู้คนไม่นานเรื่องราวนั้นก็จะหายไปแทบจะไม่อยู่ในความทรงจำของใคร 


ตรงกันข้ามหากเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คน เรื่องราวนั้นก็จะถูกบันทึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญแม้เวลาผ่านไปนานแสนนาน เรื่องนั้นก็จะยังอยู่ในความทรงจำเสมอ 

หากจะถามว่าในสมัยพุทธกาลเคยมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับโซเชี่ยลบ้างไหม?


ก็คงจะบอกได้ว่ามี แต่เกิดขึ้นในวงแคบและสามารถจัดการให้จบได้ภายใน เวลาอันสั้น ขอยกตัวอย่างบุคคลผู้หนึ่ง ที่หาก เอ่ยนามบุคคลนี้ขึ้นมา ก็คงพอจะนึกเรื่องราวออก 

ใช่ครับ ผมกำลังจะพูดถึง เรื่องของนางจิญจมาณวิกา ว่าไปแล้วนางคงจะสวยไม่เบาทีเดียวจึงสามารถมาเป็นตัวเอกในประวัติศาสตร์เรื่องนี้ได้ 

กล่าวคือในสมัยนั้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ประดุจแสงแห่ง พระอาทิตย์ที่สาดส่อง เลยทำให้เหล่าเดียรถีย์เกิดความร้อนรุ่ม เพราะตัวเอง ขาดลาภสักการะหรือบวกความอิจฉาตาร้อนว่างั้นเหอะ เลยกลายเป็นแสงหิ่งห้อย เมื่อความอิจฉามากเข้า ก็เลยคิดหาทางเตะตัดขาตามวิสัยคนพาล 

ซึ่งเหมือนกัน ทุกยุคทุกสมัย คือ พอตัวเองทำดีเหมือนเขาไม่ได้ ก็ต้องป้ายสีให้ร้ายเขา  อย่ากระนั้นเลยว่าแล้วก็สอดส่ายสายตามองหาตัวช่วย แล้วก็มาสะดุด ที่นางจิญจมาณวิกานี่แหละ 

อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า นางคงสวยน่าชม เอ้า มาดู คุณสมบัตินาง สักนิดว่ากันว่า ในกรุงสาวัตถีนี่ หากเอ่ยถึงนางคนนี้ นึกภาพกันออกเลยหล่ะว่า เป็นปริพาชิกาที่มีรูปโฉม ราวกับนางอัปสร รัศมีหรือออร่า นี่เปล่งออกมาจากสรีระของนางเลยว่างั้นเหอะ 

ด้วยคุณสมบัติปานฉะนี้ นางจึงถูกเดียรถีย์เรียกไปร่วมวางแผนเพื่อทำลายพระพุทธองค์ พอวางแผนกันเสร็จสรรพ ไม่รู้ว่าแถวไหนหล่ะ คงมีเสียงหัวเราะคิกคัก ๆ ตามประสาพวกคิดเรื่องดี ๆ ไม่ค่อยเป็น   


จากนั้นนางก็เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มจากปริพาชิกามาเป็นห่มผ้าสีสวยประพรมของหอม ถือพวงมาลัยไปวัดทำทีเหมือนกับจะไปฟังธรรม พอมีคนถามไถ่ นางก็บอกว่า "จ้างก็ไม่บอก" เท่านั้นยังไม่พอ

นางยังลงทุนไปอยู่ใกล้วัด ก็คงเหมือนยุคนี้ ที่ลงทุนจ้างไส้ศึกเข้ามาอยู่ในวัดนั่นหล่ะ พออยู่ใกล้วัดแล้วทำไง เวลาเช้าก็ทำเป็นเดินออกมาจากวัดแต่เช้าพอใครถามไปไหนมาก็บอก "จ้างก็ไม่บอก"

ดึก ๆ ดื่น ๆ ก็มีคนเห็นในวัด ถามว่ามาทำอะไร ก็บอกว่าจ้างก็ไม่บอก เวลาผ่านไป เดือนสองเดือน คนก็เห็นแบบนี้ ถามก็ตอบแบบนี้พอนานเข้าเห็นว่าได้การหล่ะพอมีคนถามก็เลยเข้าทาง แหม... 


"ถามมากอยากรู้บอกให้ก็ได้ ก็อยู่กุฏิพระพุทธเจ้าแหละ"  เอากะหล่อนสิ 

ตอนนี้คนก็เริ่มสงสัยแล้ว เอ จริงไม่จริงเนี่ย เริ่มปากต่อปากเล้ว อย่าลืมว่าสมัยนั้นยังไม่มีไลน์ ยังไม่มีทวิตเตอร์ ไม่มีเฟสบุค เรื่องก็เลยอยู่แค่รอบ ๆ วัด  พอผ่านไปสามสี่เดือน นางก็เริ่มแผนขั้นต่อมา คือ เอาผ้ามาผูกที่ท้อง ทำเหมือนมีท้อง 

ตอนนี้ก็เริ่มมีการให้พวกคนของตนไปกระจายข่าวบ้างแล้วว่า นางท้องกับพระพุทธองค์  ข่าวก็เริ่มกระจายไปอีกตอนนี้คนบางส่วนก็ชักจะเชื่อบางพวกก็ไม่มาวัดแล้ว พอครบเก้าเดือนลงทุนหนักเลยมีการทุบมือเท้าให้บวมเหมือนคนท้องพอได้ที่ 

มาเลยคราวนี้ มายืนต่อหน้าพระพุทธเจ้าในขณะที่พระองค์กำลังแสดงธรรม ว่าไงหล่ะ แหม ๆ พระองค์เสียงไพเราะเพราะพริ้งซะจริงนะ แต่ไม่สนใจมาดูแลลูกในท้องเลยนะ เอาหล่ะสิ คนในศาลาชักใจคอไม่ดีแล้ว เพราะได้ยินได้ฟังมานานพอควร  

พระพุทธองค์ทรงนิ่ง แล้วตรัสสั้น ๆ 


“สิ่งที่เธอพูดมา มีเธอกับเราตถาคตที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”  

เอาหล่ะสิ พอเจอแบบนี้เข้าเลยทำดิ้นไม่พอใจในตำราก็บอกพระอินทร์ให้เทพบุตรแปลงเป็นหนูมากัดผ้าขาดทำให้คนเห็นทั้งศาลาว่าท้องไม่จริงนี่นา 

ว่าแล้ว เลยโดนญาติโยมขับไล่ คงโดนไปหลายตุ๊บ วิ่งหนีมานอกวัด จนโดนธรณีสูบ นั่นแหละ ใครอยากรู้รายละเอียดก็ไปศึกษาเรื่องนี้ได้ว่าโทษของการจ้วงจาบใส่ร้ายผู้มีศีลเป็นอย่างไร 

พอมาถึงตรงนี้คงพอนึกภาพกันออกนะว่า โซเชียลสำคัญอย่างไร มีผลอย่างไร? 


เพราะสังคมสมัยก่อนเรื่องกระจายมีแค่วงจำกัด ดังนั้นข่าวสารต่างๆจึงอยู่ในวงแคบ ดังนั้นเรื่องก็ไม่ลุกลามไปไกลมาก ไม่ออกสู่วงกว้างง่ายต่อการจัดการแต่ ณ วันนี้เรื่องจริงไม่จริงไม่รู้แต่กระจายไปกันทั่วโลกภายในไม่กี่นาที 

และก็แปลกที่คนก็พร้อมจะเชื่อ บางคนก็บอก หากไม่มีมูลหรือไม่จริง เขาคงไม่กล้าพูดพอได้ยินครั้งแรกก็จะเริ่มสงสัยได้ยินบ่อยเข้าบ่อยเข้าก็ชัก 


เอะ...น่าจะจริง พอได้ยินทุกวัน ๆ ใช่ ใช่ จริงแน่ๆ 

ดังนั้นเมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรมา ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน เชื่อหรือไม่เชื่อ ให้หาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนให้รอบด้าน ไม่อย่างนั้นจะตกเป็นเครื่องมือของคนพาลได้

สำหรับผมเอง ก็เอาใจช่วยชาววัดพระธรรมกาย และนับถือน้ำใจที่เขายึดแนวของพระบรมศาสดาคือ ไม่สู้ ไม่หนี แต่ทำความดีเรื่อยไป  

แต่อดที่จะสงสารเหล่าเดียรถีย์ไม่ได้ว่า วันๆจะนอนหลับกันบ้างไหมหนอแม้จะอยู่บ้านสวยๆงามๆ ใจจะมีสุขบ้างไหมหนอ ใจจะเย็นชุ่มฉ่ำกันบ้างไหมหนอ เพราะวัน ๆ คิดแต่เรื่องร้าย ๆ ที่จะทำลายผู้อื่น น่าสงสารนะครับ ว่าไหม

เรื่องโดย ปรัศนี


อิทธิพลของโซเชียล อิทธิพลของโซเชียล Reviewed by สารธรรม on 20:03 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.