ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนที่ 3 ตัดสินพระธัมมชโย

ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ 
ตอนที่ 3 ตัดสินพระธัมมชโย


สารภาพครับว่าหลายอารมณ์กับการเขียนเรื่องนี้มาก ๆ เลย

คือนึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งต้องมาเขียนเล่าเรื่องพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างนี้ แล้วก็ไม่เคยคิดว่าเรื่อง "คดีธรรม" จะมีความดังในระดับที่สังคมให้ความสนใจยิ่งไปกว่า "คดีโลก" ซะอีก

โดยเฉพาะยุครัฐบาลทหาร ที่เนื้อในการปกครองค่อนไปทางเผด็จการ แต่ห่อหุ้มด้วยน้ำตาลประชาธิปไตยแบบไทย ๆ อย่างนี้

ไม่เคยมียุคไหนที่รัฐมนตรียุติธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา ตำรวจ มหาเถรสมาคม วัด พระ จะได้ลงข่าวทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ บ่อยถี่เท่ายุคนี้ เสียดายที่เป็นไปในทางไม่สู้ดี ทำราวกับเรื่องศาสนาส่งผลต่อความมั่งมี มั่นคง ต่อชาติ ประชาชน และวิถีชีวิตผู้คนในสังคมไทยซะเหลือเกิน 

ชาติไหนมาอ่านข่าวเมืองไทยในช่วงนี้ คงพาลนึกไปว่าพวกเรานี่เคร่งครัดในพุทธศาสนามากมาย มีด่างมีพร้อยเท่าปลายเข็มก็อดรนทนไม่ได้ รัฐบาลถึงกับจะเป็นจะตายเอาเลยทีเดียว

เรื่องของพุทธศาสนา-พระ-วัดวาอาราม จึงไม่เคยว่างจากหน้าสื่อเมืองไทย ประชาชนให้ความสนใจ ราวกับชายไทยส่วนใหญ่จะออกบวช ผู้หญิงทั้งประเทศเกิดอยากถือศีลกินเพลขึ้นมา ทั้งรัฐ ทั้งพุทธะอิสระ และฆราวาสอย่างไพบูลย์ จึงกระเหี้ยนกระหือรืออยากปฏิรูปพุทธศาสนากันขนานใหญ่อย่างนี้

จนผมแทบจะลืมไปแล้วว่าขณะนี้ใครเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย, ศึกษาธิการ, คลัง, พาณิชย์, ต่างประเทศ, คมนาคม, เกษตร, อุตสาหกรรม, สาธารณสุข กันบ้าง ผลงานไปถึงไหน หรือคนไทยจะหันมาบิณฑบาตเลี้ยงชีพแบบพระหรือไงไม่ทราบ รัฐบาลจึงสนใจศาสนามากกว่าเศรษฐกิจ หรือปากท้องประชาชน

แต่เอา...เมื่อสนใจเรื่องพระเรื่องเจ้า เราก็ต้องตามน้ำไป ติดอย่างเดียวว่าผมจะถูกนินทาว่าแก่ได้ อย่างที่ใครพูดไว้ว่าคนแก่ชอบขุดคุ้ยอดีตมาเล่า เหมือนที่ผมกำลังจะชวนคุณคุยเรื่องเก่า เล่าความหลังครั้ง 18 ปีที่แล้วในคดีธรรมกาย

เมื่อคราวที่แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับธรรมกายตามลำดับให้ฟัง วันนี้คงคุยกันสบาย ๆ ไม่ต้องท้าวความอะไรมากนะครับ (ถ้าจำไม่ได้ก็ไปดูตอนที่แล้วนะครับ)

>>>มาเริ่มกันเลย<<<

ปู่พูดอย่างนี้ครับ (อ่านแล้วอย่าเพิ่งงงกับภาษาพระนะครับ)

"ฉันพูดนี่มันเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น ตัวอย่างง่าย ๆ เช่นคำว่า ปาราชิกเนี่ย ถอนฟ้องแล้วก็จบ คำที่พระสังฆราชทรงมีวินิจฉัยว่า ธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิกตั้งแต่ปี 42 แล้วก็คำวินิจฉัยนั้นก็เข้าสู่มหาเถรสมาคม มีการประชุมกันต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 42 เข้าสู่ปี 43 และก็ 44 แต่ที่สุดแล้ว พอมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลทางโลก ก็ยุติคดีทางสงฆ์ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรต่อเลย 

เราก็อ้างคดีทางโลกยุติ คดีทางสงฆ์ก็ยุติ แล้วมหาเถรฯ กับสำนักพุทธก็มาพยายามแถว่า คดียุติแล้ว ไม่สามารถรื้อฟื้นได้ ที่จริงแล้วนี่ ที่เขาพูดน่ะจริง ถูก แต่มันถูกไม่ครบน่ะ มันถูกไม่หมด ถามว่าเพราะอะไร

ก็ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ เนี่ย ที่ฉันเอามาเป็นตัวอย่างให้คุณดูนี่ วรรคที่ 639 บรรทัดสุดท้ายนี่ อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์ นี่คือหน้าแรก

เขาผู้ฟื้นจะเป็นอาบัติ เราผู้ฟื้นก็เป็นอาบัติ แต่นี่หน้าแรก แต่ถ้าเปิดไปหน้าที่สอง วรรคต่อมาคือวรรคที่ 641 บทภาชนียกรรม 


"อธิกรณ์ใดที่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นธรรม รื้อฟื้นไม่ต้องอาบัติ"

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะฉะนั้นที่เขาบอกว่ารื้อฟื้นแล้วเป็นอาบัติน่ะ เพราะเขาดูหน้าเดียว อ่านหนังสือหน้าเดียว โบราณเขาว่า เถรฯใบลานเดียว"


>>>มาครับ เรามาสางเรื่องนี้กัน...<<<

อธิกรณ์ที่ปู่พูดถึงคือกระบวนการนิคหกรรมที่เริ่มฟื้นกันใหม่ (ทำครั้งที่ 2) หลังปลดพระพรหมโมลี และให้พระธรรมโมลีมาทำหน้าที่แทนนะครับ นั่นหมายถึงปู่ไม่ได้พูดถึงนิคหกรรมที่คณะของพระพรหมโมลีไม่รับฟ้องจากนายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ซึ่งคราวนั้นถือว่าอธิกรณ์สิ้นสุดแล้ว รื้อฟื้นไม่ได้ 

หรือแม้รื้อมาทำใหม่ครั้งที่ 2 ก็ยุติไปหลังจากอัยการถอนฟ้องในปี 2549 เท่ากับว่ามีการพิจารณาอธิกรณ์ของพระธัมมชโยข้อหาต้องอาบัติปาราชิกถึง 2 ครั้ง โดยคณะผู้พิจารณา 2 ชุด คือชุดพระพรหมโมลี และชุดพระธรรมโมลี ทั้งสองชุดมีบทสรุปสุดท้ายทำนองเดียวกันคือ พระธัมมชโยไม่ต้องอาบัติปาราชิก

ถ้าปู่รื้อฟื้นอธิกรณ์คราวนี้ก็จะเป็นการพิจารณาครั้งที่ 3 นะครับ

ก่อนที่จะไปคุยว่ารื้อฟื้นอย่างปู่ว่าได้จริงไหม ผมขอตัดสินพระธัมมชโยว่าผิดไหม ตามลำดับความสำคัญของกฎเกณฑ์ที่ใช้ก่อน คือ สำหรับพระ เกณฑ์อันดับ 1. คือ พระธรรมวินัย 2. กฎ มส.ที่ตราตาม พรบ.สงฆ์ และ 3. กฎหมายบ้านเมือง

อันดับ 1 นี้คือสิ่งที่ชี้เป็นชี้ตายว่าเป็นพระหรือไม่เป็นพระได้ 100%

ส่วนอันดับ 2 และ 3 อยู่ในระดับควรเอื้อเฟื้อทำตาม อย่าดูเบา แต่อย่างไรก็ต้องยึดกับพระธรรมวินัยไว้ เพราะพระเป็นพระได้ด้วยอาศัยวินัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นเพราะกฎ มส. หรือกฎหมายบอกให้เป็นหรือไม่ให้เป็น

อย่างกฎ มส.ที่ออกตาม พรบ.สงฆ์ เช่น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ปี 2505 มีเจตนารมณ์คือใช้บริหารการคณะสงฆ์ ให้ดำเนินไปสอดคล้องกับรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งมาจากการปฏิวัติ และต้องการปรับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายให้มีสถานะเสมอกับมหานิกาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดมีจำนวนพระเณรมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน โดยตั้งคณะบริหารสูงสุดเรียกว่า กรรมการมหาเถรสมาคม (อ้างจาก อ.บรรจบ บรรณรุจิ) 

เมื่อต้องให้สอดคล้องก็แสดงว่าต้องเขียนกฎ มส. ล้อตามกฎหมาย บางครั้งก็ไม่ถูกธรรมวินัยโดยตรงก็มี ยกตัวอย่างนะครับ

สมมุติพระรูปหนึ่งเกิดคึกคะนองไปแอบดื่มเหล้าเข้า ดื่มแล้วเมาคุยไม่รู้เรื่อง พอรู้ตัวก็เกิดสำนึกผิด เสียใจในสิ่งที่ตัวทำไป หรือแม้ไม่ได้รู้สึกอะไรก็ตาม ถามว่ากฎเกณฑ์แต่ละอย่างจะตัดสินอย่างไร

1. ถ้าตัดสินโดยพระวินัยของพระพุทธเจ้า พระองค์ปรับอาบัติ (ความผิด) เป็นปาจิตตีย์ ให้ปลงอาบัติ คือสำนึกในความผิดนั้น แล้วมุ่งแก้ไขตัวเองต่อไป ไม่ต้องสึก ถ้าไม่ต้องการ...จบ

2. ถ้าตัดสินโดยกฎ มส. โดยมากจะขอให้ท่านสึก จะด้วยเหตุว่าทำให้คนเสื่อมศรัทธา หรือเพราะกฎหมายอาจจะต้องโทษขังคุก ซึ่งขังในสภาพเป็นพระไม่ได้ จึงต้องให้สึกเสียก่อนก็แล้วแต่ และโดยมากพระที่เมาก็ยอมสึกตาม คนไทยก็คุ้นกับการตัดสินอย่างนี้

3. ถ้าใช้กฎหมายตัดสิน โดยเฉพาะดื่มเหล้าในที่ห้ามดื่ม เช่น ในวัด หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น ก็มีโทษจำหรือปรับ หรือทั้งสองอย่าง แล้วแต่ ทีนี้ถ้าตำรวจจะจับขังคุกฟ้องศาล แต่กฎหมายห้ามขังพระ ก็ต้องให้สึกก่อน ถ้าท่านไม่ยอมสึก ก็ต้องขอให้ฝั่งพระมาช่วยเจรจา หรือถ้าไม่ยอมจริง ๆ เขาก็จับถอดผ้า ใส่ชุดขาวแล้วเข้าคุกไป 

อย่างเช่น กรณีพระพิมลธรรม (อาส อาสโภ) ท่านก็ถูกบังคับสึก แต่ท่านไม่ยอม เขาจึงให้ท่านใส่ชุดขาว แต่ท่านก็ประพฤติตนแบบพระตลอดเวลาที่อยู่ในคุกนั้น จนศาลยกฟ้องเพราะถูกใส่ความ ออกมาท่านก็ห่มผ้าเหลืองใหม่ บั้นปลายชีวิตยังได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ซะด้วยสิ

จะเห็นว่าโดยพระวินัยโทษไม่มาก (แต่คนไม่ชอบ) โทษทาง กฎ มส.กลับหนักกว่าพระวินัย เพราะต้องเอื้อและให้สอดคล้องกับกฎหมายบ้านเมืองด้วย


>>>เอาละ คราวนี้ผมจะตัดสินพระธัมมชโยแล้วนะครับ ตามมา<<<

1. สมมุติผมเป็นพระที่ทำหน้าที่ตัดสินอธิกรณ์นะครับ ผมก็จะเริ่มโดยใช้หลักเกณฑ์ตามพระวินัย กฎอื่นผมยังไม่สนใจ เพราะมันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าคุณจะเป็นพระหรือไม่เป็น 

ขอตัดขั้นตอนระเบียบทางสงฆ์ไปเลยนะครับ ข้ามไปตรงที่จะวินิจฉัยเลย

ผมก็ถามท่านตรง ๆ ว่า มีพระโจทท่านว่ายักยอกทรัพย์ของวัดไปเป็นส่วนตัว ท่านมีจิต หรือเจตนาจะขโมยไหมครับ

พระธัมมชโยท่านคงตอบว่า ไม่มีจิต ไม่คิดจะขโมย เพราะทรัพย์นั้นญาติโยมถวายมาเป็นส่วนตัว ที่ดินก็เช่นกัน (เจ้าของที่ดินมาให้การยืนยันในศาลนะครับ ว่าให้เป็นส่วนตัวจริง ๆ)

ผมจะถามท่านต่อว่า มีพระโจทท่านว่าอวดคุณวิเศษของตน ท่านคิดจะอวดหรือเปล่าครับ

พระธัมมชโยท่านคงตอบว่า ไม่ได้คิดจะอวด ยังไม่เคยพูดอวดว่าตัวมีอุตริมนุสธรรม มีแต่คิดจะสอนญาติโยมเท่านั้นเอง

ซักถามเสร็จ ผมก็จะสรุปว่า พระธัมมชโยไม่ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง 2 ข้อ

จบครับ...อ่านไม่ผิดหรอกครับ ง่าย ๆ แบบนี้แหละ 

โอเค ว่าถ้าในปัจจุบันมันคงต้องยุ่งยากและใช้เวลามากกว่านี้หน่อย แต่ในสมัยพุทธกาล หาพระตัดสินยากครับเพราะมันเป็นเรื่องของจิต หรือเจตนาจะทำหรือเปล่า ส่วนใหญ่ไปจบลงที่พระพุทธเจ้าท่านตัดสินให้ ซึ่งท่านก็ถามคำถามตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละ ไม่เกิน 10 นาที จบ

ยิ่งเรื่องอุตริมนุสธรรมยิ่งยากใหญ่ เพราะจะรู้ว่ามีจริงไหมต้องอาศัยคนมีภูมิธรรมพอกันหรือมากกว่า พระโบราณท่านไม่กล้าฟันธงกันหรอกครับ ตัดสินพลาดก็แบกบาปกันหนัก จะมีแต่ถามมุมนั้นมุมนี้ เพื่อให้จำเลยพิจารณาตัวเอาเองว่าอวดหรือไม่ ถ้าท่านพิจารณาและยืนยันหนักแน่นว่าไม่ ก็ต้องปล่อยไป เพราะไม่ว่าอย่างไร ถ้าปาราชิกไปแล้ว สุดท้ายไม่มีทางอยู่เป็นพระไปได้ตลอดหรอกครับ

เข้าทำนองปล่อยคนผิด 100 คน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว

ดูตัวอย่างกรรมการมหาเถรสมาคม เช่น พระพรหมจริยาจารย์ วัดเบญจมบพิตร บันทึกให้ความเห็นเรื่องอุตริมนุสธรรมในที่ประชุม มส. (22 มี.ค. 2542) ก่อนจะมีมติร่วมกันรับรองตามที่พระพรหมโมลีเสนอมาว่า

"เรื่องการอวดอุตริมนุสธรรมเป็นของยาก เพราะพระผู้พูดก็พูดตามที่เห็นจริง แต่เรื่องที่เห็นจะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

เห็นไหมครับ ว่ามันยากอย่างนี้ ถึงบอกว่า โยม ๆ ที่ไม่เคยศึกษา ไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้หรอกครับ เวลาเห็นใครด่าพระด่าเจ้า แล้วเราเผลอด่าตามเขา เพราะมันเข้ากับตรรกะและความรู้สึกของเรา ก็จงระวังว่ามันจะไม่ตรงกับพระพุทธเจ้านะครับ

2. คราวนี้ถ้าจะตัดสินตามกฎ มส. ก็คือว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม (การลงโทษตามธรรมวินัย) ก็ต้องเริ่มด้วยการเอากฎนิคหกรรมมาใช้ คือมีผู้โจท มีการพิจารณาว่าคนโจทเป็นใคร มีสิทธิ์โจทไหม คนถูกโจทเป็นพระอะไร มียศฐาบรรดาศักดิ์แค่ไหน ต้องใช้คณะผู้พิจารณาระดับใด ใช้จำนวนเท่าไหร่ กฎเกณฑ์เป็นอย่างไร มีวิธีดำเนินการอย่างไร ต้องสอดคล้องกับธรรมวินัย กฎ มส. หรือกฎหมายบ้านเมืองตรงไหนบ้าง

ยาวครับ ขี้เกียจเล่า ยกตัวอย่างดีกว่า

>>>อย่างเช่น พระธัมมชโยสมัยนั้นเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ คณะผู้พิจารณาก็ต้องเป็นเจ้าคณะภาค 1 ที่เป็นผู้ปกครอง ร่วมกับรองเจ้าคณะภาค 1 และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รวมเป็น 3 รูป จัดเป็นคณะผู้พิจารณา (หรือเทียบกับศาลชั้นต้น) ซึ่งมีสิทธิ์เด็ดขาดในการตัดสิน เมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือรื้อฟื้นขึ้นมาได้อีก ถือว่าคำตัดสินนั้นเป็นที่สุด 

ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดรับเรื่องที่นายมาณพ กับนายสมพรโจทมา จากนั้นส่งหนังสือไปเรียกพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวมารับทราบข้อกล่าวหา 

แต่ทั้งสององค์คัดค้าน ว่าต้องตรวจคุณสมบัติผู้โจทก่อนตามกฎ จนกระทั่งศาลสงฆ์ชั้นต้นตรวจแล้ว พบว่าผู้โจทไม่มีสิทธิ์โจทได้ (ตามกฎ มส.) จึงมีมติไม่รับคำกล่าวหา อธิกรณ์นี้เป็นอันสิ้นสุด 

ถูกผิดยังไงยังไม่รู้นะครับ แต่มันไม่ผ่านแต่ต้น ก็เอวัง (แม้รื้อฟื้นอธิกรณ์สมัยพระธรรมโมลี อธิกรณ์นี้ก็ยุติไปดื้อ ๆ หลังจากอัยการถอนฟ้องแล้วอีกเหมือนกัน) สรุปว่าศาลสงฆ์ถือว่าพระธัมมชโยไม่ผิดนะครับ

คนเดินดินกินข้าวแกงอย่างเราท่านก็รู้สึกคาใจสิครับ เพราะเราไม่คุ้นกับอะไรที่คาราคาซังแบบนี้ เราอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วผิดไหม

เอาละเพื่อให้สบายใจ สมมุติว่ารับข้อกล่าวหาละกัน ศาลสงฆ์ท่านก็จะเดินหน้าโดยเอาพระธรรมวินัยมาจับแล้วครับ คุณก็ขึ้นไปอ่านข้อ 1 ข้างบนวนอีกสักรอบหนึ่งก็แล้วกัน ว่าผลน่าจะเป็นอย่างไร 

คุณจะรับได้หรือไม่ผมไม่รู้นะ แต่นี่คือวิถีของพระครับ ไม่ใช่ของมนุษย์ตดเหม็นไส้เน่าอย่างเราท่าน


บ้านมีกฎบ้าน วัดก็มีกฎวัดครับ อย่าเอามาปนกัน มันจะมั่ว

3. ตัดสินตามกฎหมายบ้านเมือง คงตัดสินได้เรื่องเดียวคือยักยอกทรัพย์หรือลักทรัพย์ ซึ่งสุดท้ายอัยการขอถอนฟ้อง และศาลมีคำสั่งให้ถอนฟ้องได้ ใครเอาเรื่องนี้ไปโวยวายระวังโดนข้อหาละเมิดศาลนะครับ เพราะอัยการไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าถอนได้หรือไม่ได้ คนตัดสินคือศาลครับ กรุณาให้ความเคารพด้วย 555 

ส่วนเรื่องอวดอุตริมนุสธรรม อัยการคงงงตั้งแต่ทำสำนวนแล้วครับ และศาลก็คงงงว่าจะตัดสินยังไง เพราะไม่รู้จะเอากฎหมายข้อไหนมาใช้ดี ถ้ามี พวกทรงเจ้าเข้าผี หมอดูตาทิพย์ หูทิพย์ ตำหนักเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลาย คงโดนกันไปหมดแล้ว

ก็เป็นอันว่า พระธัมมชโยก็ไม่ผิดอีกตามกฎหมายทางโลก 

>>>พ้นมลทินทั้ง 3 กฎเกณฑ์นะครับ<<<


คุณคงเห็นความแตกต่างของการใช้กฎเกณฑ์สำหรับพระแล้วนะครับว่าไม่เหมือนประชาชน ของคนทั่วไปก็เอากฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก คุณจะทานข้าวมื้อเย็น ดื่มเหล้า เข้าบาร์ อาจไม่ผิดอะไรเลย แต่ของพระไม่ใช่

ดังนั้น ถ้าคุณไม่เข้าใจหลักการตัดสินของพระในเรื่องธรรมวินัยหรือกฎ มส.แล้วละก็ ควรทำใจร่ม ๆ และหุบปากไว้ก่อนจะดีครับ อย่าเพิ่งรีบไปด่าพระให้ตัวเองมีบาปกรรม 

ผมถึงบอกว่าเรื่องวัดพระธรรมกายนี้เป็นมหากาพย์ไงครับ มีอะไรที่สังคมไม่รู้อีกเยอะ ว่าทำไมรัฐบาลหลายชุดถึงอยากจัดการธรรมกายเหลือเกิน แต่ละครั้งก็โหมโรงใหญ่มาก ทั้งรัฐ พระ ฆราวาส นักวิชาการหน้าเดิม ๆ สื่อโทรทัศน์ (ตู้เย็น พัดลม 555) บางช่อง หนังสือพิมพ์บางฉบับ รวมตัวกันอัดธรรมกาย สามัคคีชุมนุมกะจะให้ตายจนน่าสงสัยเหลือเกินครับ

วัดนี้ใหญ่ คนมาก ขอบเขตการทำงานกว้างไกลไปถึงระดับโลก ก็เหมือนเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ท่องมหาสมุทรไปก็ต้องเจอคลื่น-ลม-ฝนปะทะมากเป็นธรรมดา ยังไงก็ต้องหนักกว่าเรือเอี่ยมจุ๊นที่ล่องตามแม่น้ำลำคลองอย่างแน่นอน

คราวนี้กลับมาที่การรือฟื้นอธิกรณ์ของปู่บ้าง คือปู่จะอ้างพระธรรมวินัยมาเป็นตัวตั้ง (พระไตรปิฎก) กับโยงเอากฎ มส.มาพัวพันด้วย (ต้องสนองตามพระลิขิตของพระสังฆราช) แม้อธิกรณ์นั้นจะยุติระงับเป็นอันสิ้นสุดถึง 2 ครั้งแล้วก็ตาม แต่ปู่จะพยายามรื้อขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ให้ได้ 

อ้อ...ขออภัย ลืมไปว่าผมเขียนมา 7 หน้ากระดาษแล้วครับ เกรงจะยาวไป พักสักนิดดีไหมครับคุณ (อย่าโห่สิครับ) 

คราวหน้าคงได้รู้ละครับว่า จะรื้อฟื้นอธิกรณ์อย่างที่ปู่ว่าได้หรือไม่ต้องขอเอวังไว้เท่านี้ก่อนนะครับ

คมความคิด
31 มีนาคม 2560




ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนที่ 3 ตัดสินพระธัมมชโย ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ  ตอนที่ 3 ตัดสินพระธัมมชโย Reviewed by สารธรรม on 19:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.