เกินอิ่ม ... เงินทอน ขรก. ผู้รับเคราะห์คือพระ ?


"...ปัจจัยส่วนใหญ่ได้มาจากสาธุชน ไม่ใช่มาจากการสนับสนุนของภาครัฐมากนัก ดังนั้นตรงนี้จึงไม่น่าจะไปเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐยกขึ้นมาเป็นประเด็น จนกระทั่งทำให้มีความรู้สึกว่า พระทั้งแผ่นดินนี้โกงกินอะไรกัน "


ถ้าย้อนกลับไปดูสมัยพุทธกาล 

ในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธเองจะมีความสามัคคีกลมเกลียวในการรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัญหาจึงมักจะเกิดจากลัทธิความเชื่ออื่นๆ ที่แตกต่างกันมากกว่า


แต่ในปัจจุบันเป็นศึกภายใน

การที่ชาวพุทธมีความขัดแย้ง มีความรู้สึกไม่พอใจกันเอง ซึ่งอันนี้หลวงพี่ว่ามันรุนแรงกว่าในพุทธกาลนะ

เพราะว่าพระพุทธศาสนาในเมืองไทย เคยได้รับการดูแลทำนุบำรุงสนับสนุนในทุกด้าน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ รัฐบาล ชาวบ้านทั้งหลาย คือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ก็จะมีในยุคนี้ที่ออกจะแปลกหน่อยอย่างที่เห็นกัน !


ทางคณะสงฆ์เอง บางอย่างที่เป็นประโยชน์ก็คงต้องย้อนเอากลับมาดู บางอย่างที่ก่อโทษโดยไม่มีที่มาที่ไปก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อรักษาให้คณะสงฆ์อยู่ได้เท่านั้น

แต่หลวงพี่มองว่าในส่วนของพระ ที่คนเชื่อมั่นศรัทธา และเป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนา ถ้าตรงนี้พังทลาย หรือตกต่ำลงไปจนคนเริ่มไม่เห็นคุณค่า ก็จะเป็นภัยที่ร้ายแรงต่อไป

ขณะเดียวกันก็ เป็นโทษภัยแก่สาธุชนด้วย ที่จะยิ่งห่างไกลจากพระพุทธศาสนาออกไป ความรู้สึกอยากจะเข้ามาสนับสนุน หรือเข้ามาเรียนรู้ศึกษาก็จะน้อยลง ในยุคนี้จึงเป็นยุคที่น่ากลัว


เนื่องจากว่าข่าวบางทีมันไหลมาทางเดียว 

โดยปกติ แล้วพระไม่ต้องการจะไปสู้รบปรบมือกับใคร โดยมากท่านก็เลือกที่จะนิ่ง ยิ่งตอบโต้ออกไป ก็ดูไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาอีก เหมือนกับว่าจะไปหาเรื่องหาราวกับญาติโยม

แต่พอตีข่าวอยู่ทางเดียว อย่างในกรณีเริ่มมีความคิดอยากจะตรวจสอบทรัพย์สินของวัดต่างๆ โดยความรู้สึกว่าวัดมีรายรับรายจ่ายที่ไม่ค่อยโปร่งใส ซึ่งวัดทั่วไปเขาก็มีการรายงาน ไปยังคณะของพระผู้ปกครองอยู่แล้วเป็นปกติประจำปี

ฉะนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนา เองก็ทำหน้าที่ในการช่วยสนับสนุนคณะสงฆ์ จึงไม่ได้มีบทบาทในการที่จะมาทำให้คณะสงฆ์อึดอัดหรือลำบาก



ถ้าให้ดีก็น่าจะเสนอเข้าไปใน

กรรมการมหาเถรสมาคม ดูว่าตรงไหนเป็นประโยชน์ก็เอามาใช้ ตรงไหนที่ทำพระพุทธศาสนาเดินหน้าลำบาก ก็ต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียด


ความจริงแล้ววัดทุกแห่ง อยู่ได้ด้วยความศรัทธาของสาธุชน 

โดยปกติก็จะได้ปัจจัยจากสาธุชนเป็นหลัก หลวงพี่ไม่ค่อยได้เห็นว่ามีกำลังสนับสนุนจากภาครัฐที่มาเป็นเนื้อเป็นหนังเพื่อให้วัดอยู่ได้ หรือว่าสามารถจะเอามาบูรณะพัฒนาวัดวาอารามตัวเอง 


โดยมากท่านเจ้าอาวาส 

ก็จะหาด้วยตัวของท่านเอง เป็นความเลื่อมใสของสาธุชนต่อท่านเป็นการส่วนตัว เขาก็มาทำบุญกับวัด ท่านก็นำปัจจัยนั้นมาใช้งาน

ก็เท่ากับว่าปัจจัยจริงๆ ส่วนใหญ่ ได้มาจากสาธุชน ไม่ใช่มาจากการสนับสนุนของภาครัฐมากนัก ดังนั้นตรงนี้จึงไม่น่าจะไปเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐยกขึ้นมาเป็นประเด็น จนกระทั่งทำให้มีความรู้สึกว่า พระทั้งแผ่นดินนี้โกงกินอะไรกัน 

ซึ่งหลวงพี่ว่ามันเป็นการมองพระ ในทิศทางที่ไม่เป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนา!

เพราะว่าผู้ที่ตั้งใจจะออกบวชเข้ามาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีปริมาณมากมหาศาลกว่าจำนวนของพระที่ตรงกันข้าม

ซึ่งสังคมจะต้องมองกันให้ดีว่า ในทุกๆ ภาคส่วน ย่อมมีทั้งบุคคลที่ดี และที่แย่อยู่ในทุกสังคมอยู่แล้ว สังคมพระก็คงไม่ต่างกัน พระดีก็มีเยอะมากๆ เพียงแต่ท่านไม่ได้มีปากมีเสียง



ดังนั้นก็คิดพิจารณาให้ดี เพราะว่ามันจะกระทบไปสู่งานพระพุทธศาสนาในภาพรวม ซึ่งจริงๆ ต้องถือว่าเป็นแก่นเป็นแกนของประเทศไทย เพราะว่าพระพุทธศาสนาได้ซึมเข้ามาสู่วิถีชีวิต สู่รากเหง้าประเพณีวัฒนธรรมของคนไทยมายาวนาน

ถ้าเกิดทำให้ความรู้สึกตรงนี้สั่นคลอน ก็จะกระทบสังคมในภาพใหญ่มากๆ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
เรื่องเล่าเข้าใจธรรม live  20 มิ.ย.2560
VoiceTV 21 :wakeup news
Posttoday.com :วรรณโชค ไชยสะอาด
เกินอิ่ม ... เงินทอน ขรก. ผู้รับเคราะห์คือพระ ? เกินอิ่ม ... เงินทอน ขรก. ผู้รับเคราะห์คือพระ ? Reviewed by สารธรรม on 22:36 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.